ยินดีต้อนรับสู่

“ มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ”

แจ้ง/ส่งหลักฐานการโอนเงินร่วมบริจาคสมทบการอบรมได้ที่
E-mail : [email protected]
Facebook : www.facebook.com/vipassanacm/messages



เรื่องเล่าจากอาจารย์... ( สภาวธรรม )

          มีผู้ปฏิบัติธรรมหลายคนสงสัยว่า คำว่าสภาวธรรมที่พูดๆกันเวลาปฏิบัติธรรมนั้น หมายถึงอะไร?

        ผมเลยถือโอกาสชี้แจงย่อๆดังนี้

        คำว่าสภาวธรรมมีความหมายลึกซึ้งทั้งทางกว้างและเจาะจงหลายระดับขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัตินั้นๆกำลังปฏิบัติอยู่ในระดับใด
 
       สภาวธรรม หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ ในขณะปฏิบัติธรรมให้ผู้ปฏิบัติธรรมรับรู้ได้ บางครั้งก็เรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน หรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของรูปนาม

        สภาวธรรม ในระยะเริ่มแรกของการปฏิบัติธรรม ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นทางกายและทางใจ เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญสติทางกาย ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการเฝ้าดูกายในกาย เช่น การกำหนดอานาปานสติ หรือลมหายใจ การกำหนดพองยุบ เป็นการดูอาการของกายที่เคลื่อนไหว ในอิริยาบถใหญ่ต่างๆ การยืน เดิน นั่ง นอน และการเคลื่อนไหวทางกายในอิริยาบถย่อย คู้ เหยียด กระพริบตา กลืนน้ำลาย เหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ผู้เจริญสติเฝ้าติดตามดูและติดตามรู้ เป็นการสังเกตุพฤติกรรมทางกาย

        เรียกง่ายๆ ว่า การเฝ้ากำหนดดูอาการเคลื่อนไหวทางกายอยู่เนืองๆ

        เมื่อเฝ้าดูกายอยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสภาพทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย เช่น อาการปวด เมื่อย เหน็บชา เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นติดตามมา เรียกว่าการกำหนด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเฝ้าดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของเวทนาทางกายและเวทนาทางใจต่อเนื่องกัน

         เมื่อจิตเกิดการรับรู้เวทนาทางกายและทางใจ จิตก็จะเกิดจิตที่ขุ่นมัว หงุดหงิด โกรธ เรียกว่าจิตโทสะ หรือเมื่อจิตยินดีในอารมณ์ ติดใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ความสุขทางกายหรือทางใจ เรียกว่าจิตโลภะ เป็นการกำหนด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้รู้เท่าทันจิตที่เสวยอารมณ์ต่างๆ

        ในขณะที่เจริญสติอยู่นั้น โดยเฉพาะในการนั่งสมาธิ จะเกิดสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องฝึกเรียนรู้ สภาวธรรมของจิต คือ นิวรณ์ธรรม ที่จะเกิดขึ้นทำให้จิตเศร้าหมอง เช่น ฟุ้งคิด ง่วงเซาซึม ความคิดประหวัดถึงสิ่งที่ยึดติดชอบใจในกาม หงุดหงิด โกรธ พยาบาท จิตที่ลังเลสงสัย

         เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจในความเป็นจริงของจิตที่เป็นไปกับอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้ก็เรียกว่าอารมณ์กรรมฐานหรือสภาวธรรมได้เช่นกัน

        สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเฝ้าเพียรกำหนดดูรู้อยู่อย่างนั้น ก็จะเกิดสภาวธรรม คือสภาพกุศลขึ้นในจิต เช่น ความอดทน ความพากเพียร ขันติ ที่อดทนสู้กับอารมณ์ต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในเรื่องของการสำรวมระวังในการรับและรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบอยู่เนืองๆ เป็นการระวังอกุศลมิให้เกิดขึ้นแก่จิต และเฝ้าระวังรักษาทวารต่างๆในการรับอารมณ์อยู่เสมอ

         เรียกว่า เกิดอินทรียสังวรศีล อันเป็นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม

         องค์ธรรมได้แก่ การเจริญธรรมหมวด สติปัฏฐานสี่ อิทธิบาทสี่และสัมมัปปธานสี่

        หรือในขณะที่จิตเกิดสมาธิขึ้น ทางกายจะเกิดอาการสั่นไหว โยกเยก หมุน กระเพื่อม ร้อน หนาว หนัก เบา ตึง หย่อน อันเป็นสภาวธรรมของธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ ปรากฏขึ้นมาแสดงความจริงของกาย เรียกว่าธรรมปีติ

        ในบางครั้งอาจเกิดนิมิต แสงสี ภาพ เกิดขึ้นทางจิต ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้ในความเป็นจริงโดยกำหนดรู้และปล่อยวางไม่ยึดติดว่าเป็นสภาวธรรมขั้นสูง

         ตรงนี้แหละ เป็นช่วงการปรับอินทรีย์ คือ การเจริญอินทรีย์ ๕ พละ ๕  ได้แก่ การปรับศรัทธาและปัญญา วิริยะและสมาธิ ให้เสมอกัน โดยมีสติเป็นผู้เฝ้าดูและกำกับ จัดเป็นการเจริญธรรมหมวด อินทรีย์ ๕ พละ ๕

        จนกระทั่ง ผู้ปฏิบัติเริ่มเรียนรู้และเข้าใจในหลักการเจริญสติ ละทิ้งความยินดีติดใจในธรรมปีติทั้งปวง โดยหันมากำหนดรู้ในรูปนามอย่างจริงจัง ผู้ปฏิบัติจะเกิดสติและสมาธิ ว่องไวคมกล้า มีกำลังยิ่งขึ้น จนเห็นธรรมชาติของรูปและนามตามความเป็นจริง

        คือเห็นสามัญลักษณะของรูปและนาม ได้แก่ อนิจจัง ทุกขังและอนัตตา เรียกว่าเข้าสู่ สภาวธรรมจริงแท้ (ปรมัตถธรรม)

        ตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นสภาวธรรมขั้นวิปัสสนาญาณ(ปัญญารู้แจ้งในรูปและนามตามความเป็นจริง)

        ลำดับต่อไปเป็นการปฏิบัติอย่างเข้มข้นเพื่อเข้าสู่สภาวธรรมเบื้องสูง ที่เป็นลำดับของ ญาณ๑๖ (โสฬสญาณ) ดังที่กล่าวมา ซึ่งผมขออนุญาตละเว้นจะกล่าวถึงรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องยากและไม่สมควรเล่า(เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมตรวจสอบกับอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น)

        ซึ่งกล่าวได้โดยย่อว่า เป็นการเจริญสติ วิริยะ สมาธิ ศรัทธาและปัญญา ทั้งในแง่ความเป็นใหญ่และกำลัง ให้เกิดดุลยภาพในจิตแต่ละขณะ เป็นจิตที่สะอาดเต็มไปด้วยสภาพกุศลชั้นสูง ปราศจากนิวรณ์และเกิดปัญญาเห็นคล้อยตามความเป็นจริงของรูปและนามที่กำหนดรู้อยู่

       คือ รู้อนิจจัง หรือ รู้ทุกขัง หรือ รู้อนัตตา ทุกขณะจิต กล่าวได้ว่ามีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์

       กุศลธรรมขั้นสูงเกิดขึ้น ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจะยะสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์

       ต่อจากนี้ เมื่อจิตเต็มไปด้วยพลังสภาพกุศลของธรรมในหมวดต่างๆที่เกิดขึ้นหนุนเนื่องจิตในแต่ละขณะ เมื่อพร้อมเต็มที่ จิตจะแล่นเข้าสู่มรรคจิต ผลจิต ทันที
            
       เรียกว่าเกิด มรรค ๘ ในจิตขณะเดียว เป็น มรรคสมังคี (กุศลเจตสิก ๘ เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียว)
             
      การรู้ธรรมนี้เกิดขึ้นฉับไวเหมือน ช้างกระดิกหูหรืองูแลบลิ้น(สำนวนอุปมาของโบราณาจารย์)

      หากพิจารณาจากองค์ธรรม ได้แก่การเจริญ โพธิปักขิยธรรมทั้ง  ๓๗ ประการ ได้แก่
              
     สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔  สัมมัปปธาน ๔ (๑๒)

     อินทรีย์ ๕ พละ ๕ (๑๐)

     โพชฌงค์ ๗ (๗)

     มรรค ๘ (๘)

     รวมเป็นองค์ธรรมทั้ง ๓๗ ประการ ให้เกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์นั่นเอง

     พอเท่านี้ก่อนนะครับ นี่ขนาดว่าย่อๆแล้วนา หากจะเอาละเอียดกว่านี้ มีทางให้เลือกสองทางครับ

     คือ เชิญมาปฏิบัติธรรมจนรู้แจ้งเอง หรือไปสมัครเรียนพระอภิธรรมครับ